วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

#CHALLENGE ครั้งหนึ่งในชีวิต ผมเคยว่ายน้ำข้ามเกาะเสม็ดมา

Challenge triathlon Samed-Baan phe 2015 (Swimathlon only)


      ปกติเราไปเที่ยวเสม็ดกันยังไง  นั่งรถไปที่ท่าเรืออำเภอบ้านเพแล้วขึ้นเรือใหญ่หรือนั่งสปีดโบทแป๊บเดียวถึงเกาะ เช้าไปบ่ายกลับก็ยังได้ แต่ยังมีอีกวิธีเป็นทางเลือกให้ลอง ว่ายน้ำข้ามทะเลกลับมาฝั่งเลยครับ

     ทุกปลายปีมีงานที่จัดโดยสมาคมไตรกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นงานแข่งไตรกีฬาที่มีเส้นทางช่วงว่ายน้ำพิเศษอยู่ซักหน่อย คือแทนที่จะว่ายออกจากฝั่ง-กลับตัว-เข้าฝั่งมายังจุดเดิม ก็เปลี่ยนเป็นว่ายจากจุด A-B ซึ่งจุดที่ว่าก็คือหาดด้านทิศเหนือของเกาะเสม็ด-ไปยังชายหาดฝั่งบ้านเพ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ก่อนที่จะไปปั่นจักรยานและวิ่งต่อ ซึ่งงานนี้เราเลือกได้ว่าจะว่ายน้ำอย่างเดียวหรือแข่งครบเป็นไตรกีฬาเลย แน่นอนประเมินความสามารถตัวเองแล้วตัดสินใจได้ว่า ว่ายน้ำอย่างเดียวให้รอดก่อนก็แล้วกัน

แนวเส้นทางว่ายน้ำเกาะเสม็ด-ฝั่งบ้านเพ

     ด้วยความที่ต้นทุนด้านว่ายน้ำไม่ได้มาก เพิ่งมาฝึกซ้อมช่วงกายภาพบำบัดสะโพกร้าวตอนกลางปี แล้วก็ยังคงว่ายต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ค่อยๆยืดระยะเพิ่ม จนได้ไกลสุดคือประมาณเกือบ 4 กม.แบบว่ายไปพักไปในสระว่ายน้ำ (โดยไม่สนเรื่องเวลาใดๆ ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าต้องว่ายได้เพซเท่าไหร่ถึงเรียกว่าเร็ว) แล้วก็ดันพักว่ายน้ำไปซ้อมวิ่งฟลูงานกรุงเทพมาราธอน ตามเป้าว่าอยากกลับไปวิ่งฟลูให้ได้เหมือนเดิมก่อน โดยก็หวังลึกๆว่าจะฟื้นตัวได้ทันพอจะมาลงงานว่ายน้ำข้ามเสม็ดต่อ เพราะจัดห่างกันแค่สองสัปดาห์ ไม่เหลือเวลาซ้อมแล้วก็อาศัยบุญจากซ้อมวิ่งเอา เพราะมีแค่ปีละครั้งพลาดแล้วรออีกนาน

     ต้นธันวาคมมาถึงอย่างรวดเร็ว ตัดมาวันบรีฟซึ่งตั้งใจจะมาสมัครหน้างานด้วย ปรากฎว่าถึงเวลานัด 17.00 น. ยังหาจุดจัดงานไม่เจอ เพราะไม่รู้จักทาง แถมบริเวณใกล้เคียงมีงานออกร้านประจำปีคนเยอะรถติดมาก ขับวนไปมากว่าจะถึงปรากฎว่าบรีฟจบไปแล้ว แหงสิก็จะมืดแล้วนิ (-.-) ยังดีว่ามาว่ายน้ำอย่างเดียวดูเอกสารกับแผนที่และถามนักกีฬาท่านอื่นเอาก็พอไหว งานจัดกันแบบง่ายๆกันเองๆตามสไตล์สมาคมไตร เดินไปเตนท์ กรอกใบสมัคร จ่ายเงิน รับหมวก-เสื้อ เรียบร้อย แวะถามข้อสงสัยอีกเล็กน้อยกับผู้จัด-อำนวยการงาน ครูอู๊ด (นายกสมาคมไตรฯไทย) เป็นการคุยกันครั้งแรกก่อนที่จะได้มาเป็นลูกศิษย์ครูในภายหลัง แวะหาอาหารเย็นกิน ยัดเต็มที่กะว่าโหลดแบบวิ่งมาราธอน แล้วกลับไปพักผ่อน

เช้ามารายงานตัว เขียนเบอร์

ลงไตรกีฬาด้วยก็ได้ แต่คราวนี้ขอว่ายให้รอดก่อน

     เช้าวันงานเดินทางมาถึงเกือบ 6.20 น.ก็ต้องรีบแล้ว เพราะ 6.30 น. ต้องนั่งเรือของชาวประมงในพื้นที่ออกไปจุดปล่อยตัวที่เกาะเสม็ดก่อน ซึ่งตรงเวลามาก (นักไตรกับนักวิ่งทางไกลปกติวินัยดี เลยเป็นคนตรงเวลา 55+) เขียนเบอร์และจัดของอย่างรวดเร็วก่อนเดินไปหาเรือขึ้น เลือกลำที่ดูไม่ได้นั่งกันเป็นทีมเพราะมาคนเดียว  ระหว่างนั่งเรือไปเกือบครึ่งชั่วโมงเป็นโอกาสดีที่ได้คุยแลกเปลี่ยนกับนักกีฬาท่านอื่นๆ ซึ่งลำนี้แข็งๆกันทั้งนั้น ไม่มีมือใหม่(แบบเรา) ผ่านไตรระยะแสตนดาร์ทกันมาหมดแล้ว มีพี่ท่านนึงดูแล้วขอใช้คำว่า เก๋ามาก เป็นคนเดียวในลำที่ว่ายแล้วไปปั่นและวิ่งต่อครบไตร มางานนี้หลายครั้งแล้ว ระหว่างนั่งเรือก็ดูคลื่น ดูทิศ ดูลมไปเรื่อย อืม วิวก็ดีแหละ แต่ไกลกว่าดูจากบนฝั่งเยอะเหมือนกันนะเนี่ย

นึกถึงเพลงนี้กว่าครั้งไหนๆ " เรือเล็กควรออกจากฝั่ง "

     เรือใช้เวลาไม่ถึง 30 นาทีก็มาถึงจุดปล่อยตัวบริเวณชายหาดของบ้านทะเลรีสอร์ท ตามแผนที่คือหาดเหนือสุดของเกาะ น่าจะเป็นจุดที่เหมาะและใกล้ฝั่งที่สุดในการปล่อยตัว เวลาที่เหลือคือรอการปล่อยตัวตรงตามเวลาในกำหนดการ ซึ่งมีเวลาเหลือเฟือมากกว่าหนึ่งชั่วโมง เริ่มมีคนลงน้ำไปวอร์ม ส่วนใหญ่ก็นั่งพักหรือคุยกันบริเวณชายหาด ได้คุยรับความรู้จากพี่ๆน้องๆนักกีฬาท่านอื่นอีกนิดหน่อยพร้อมได้ขอใช้ที่ฉีดแว่นกันฝ้าและวาสลีนทาตัว ช่วยกันแมงกระพรุนได้(ความรู้ใหม่ ต่อไปนี้ต้องพก) นั่งๆเดินๆแกร่วๆไปมารอเวลา (ระยะขนาดนี้แผนปกติคือเก็บแรงไว้ ค่อยไปวอร์มเอาช่วงแรกเลย ไม่วอร์มไปก่อน กะไม่ถูกจริงๆว่าใช้เวลาเท่าไหร่คิดว่าน่าจะมากกว่า 3 ชั่วโมง เลยจะไปเรื่อยๆไม่เร่ง ขอแค่จบ) 8.30น. ประธานและสปอนเซอร์ PTT มาถึง เริ่มเปิดงาน ได้เวลาปล่อยตัวแล้ว

บรรยากาศจุดปล่อยตัวบนเกาะ

เช้านี้สนุกมากครับ มีโอกาสเจอกันอีกนะครับ

      หลังเสียงสัญญานนักกีฬาแนวหน้าวิ่งกรูลงไปในทะเลแล้วออกว่ายอย่างรวดเร็ว เราก็ทยอยเดินตามไปคนท้ายๆ นับคร่าวๆน่าจะมีนักกีฬาประมาณเกือบ 60 คน ภาพนักกีฬาทุกคนว่ายเป็นกลุ่มห่างๆกระจายตัวมุ่งหน้าไปทางเดียวกัน มีทุ่นลอยให้เห็นเป็นแนวห่างๆน่าประทับใจมาก ให้ความรู้สึกว่ายในทะเลกันจริงๆ (ก็มันของจริง) ไม่มีแนวทุ่นและเชือกแคบๆเบียดๆมาตีกรอบไว้ เป็น Open water ที่ต่างจากที่เคยว่ายมาก่อนมาก

ได้เวลาแล้ว ไปกันก่อนเลยครับ

I really like this moment

     ทางงานแข่งจัดทุ่นลอยสีสด ทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ม. ผูกไว้ทุก 500 ม. ให้เป็นจุดนำสายตาและนำทาง มีเรือของชาวประมงท้องที่จอดระหว่างเส้นทาง ทุก 200-250 ม. Stand by คอยให้บริการน้ำดื่ม นักกีฬาสามารถเกาะเรือพักหรือเหนื่อยจริง ขึ้นเรือไปพักแล้วค่อยลงว่ายต่อก็ยังได้ ถือว่ามีการดูแลความปลอดภัยในระดับน่าพอในและเพียงพอ (งานนี้อนุญาตให้ใส่ทุ่น Safety buoy ได้ตามสะดวกครับ)

อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย นี่ตอนทยอยเก็บแล้ว

     หลังออกตัว เริ่มว่ายช่วงแรกช้าๆเป็นการวอร์มและปรับตัวกับคลื่นลม และความเค็ม พยายามรักษาจังหวะช่วง 30 นาทีแรกให้ช้ากว่าปกตินิดหน่อย พบว่าการว่ายในทะเลที่ห่างฝั่งนี่ว่ายง่ายกว่าที่คิด คลื่นน้อยและเบา ลอยตัวง่าย ถ้ายังออกแรงก็ไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ น้ำค่อนข้างใส มองไปได้ไกล ติดเรื่องการเล็งแนวทุ่นที่ถ้ายกหัวขึ้นดูทิศขณะอยู่ในท้องคลื่นช่วงต่ำจะมองไม่เห็นเพราะยอดคลื่นบัง ต้องยกหัวขึ้นบ่อยหากจะเล็งทางให้แม่น และทิศของคลื่นลมมีผลให้ว่ายทางทิศที่เล็งได้ยากขึ้น กินแรงมากขึ้น

     ใกล้ครบหนึ่งชั่วโมงยังอยู่ในช่วงที่ไปได้เรื่อยๆ พยายามรักษาระดับการออกแรงให้ไม่ให้ถึงขั้นเหนื่อยหอบ ตามปกติจะต้องเริ่มเติมพลังงาน แต่งานนี้ต้องอยู่ในน้ำตลอดเวลาการพกซีเรียลบาร์มากินตามปกติน่าจะไม่เหมาะ เลยเลือกมาเป็นเยลลี่ พกมาตั้งใจกินทุก 40-60 นาที เวลาแกะก็ใช้การลอยคอแล้วถีบตัวกลับหลัง ซึ่งใช้ได้ดีกับการเคลียร์ฝ้าที่ขึ้นในแว่นด้วย และหลังจากนั้นต้องเริ่มเกาะเรือเพื่อดื่มน้ำ ถือเป็นการล้างความเค็มออกจากปากได้บ้าง
     หลังจากว่ายได้ชั่วโมงครึ่ง สังเกตรอบตัวคาดว่าน่าจะมาได้ครึ่งทางแล้ว ประมาณ 10 โมงแดดเริ่มร้อน เริ่มรู้สึกถึงการเกร็งที่เท้าเป็นจังหวะๆ เป็นอาการที่นักกีฬาสาย Endurance รู้จักดีคือ ตะคริวกำลังจะมา อืมมม วิ่งหรือปั่นยังหยุดข้างทางพักได้ ลอยอยู่กลางทะเลนี่ไม่ได้แฮะ ต้องผ่อนแล้วควบคุมการออกแรงให้ดี เริ่มจากเปลี่ยนไปว่ายกบให้บ่อยขึ้น นานขึ้น กลับไปท่าฟรีสไตล์ได้ไม่นานก็ต้องกลับมากบใหม่ ไม่สามารถเร่งได้กว่านี้เพราะเท้าจะเกร็งถี่ขึ้น ช่วงนี้เริ่มมีคนว่ายแซงไปบ้าง แต่ก็ยังยึดเป้าหมายว่าขอจบโดยสวัสดิ์ภาพพอ ขอไม่ทำอะไรเสี่ยงเพิ่ม เน้นประคองตัวไป


     ผ่านสองชั่วโมงเติมพลังงานกับแวะเกาะเรือเพื่อดื่มน้ำอีกซักที เริ่มกลับมาว่ายท่าฟรีสไตล์ได้นานขึ้น และฝั่งก็เริ่มใกล้ขึ้นเรื่อยๆ เห็นคนว่ายถึงฝั่งลิบๆ ทำให้มีกำลังใจไปต่อ มองดูนาฬิกาเช็คระยะทางพบว่าระยะนิ่งไปตั้งแต่ตอน 3 กม. ไม่น่าแปลกใจ การ์มินจับสัญญานหลุดตอนว่าย Open water นี่ธรรมดามาก แค่เสียดายนิดหน่อยเพราะระยะหายกับใช้อ้างอิงไม่ได้ ว่ายต่ออีกซัก 15 นาที ที่ระยะ 300-400 ม.จากฝั่งก็มองเห็นพื้นใต้น้ำ อยู่ในระยะที่อีกเดี๋ยวจะเหยียบเดินไปได้ ด้านหน้าก็มีนักกีฬาคนอื่นเดินเข้าหาดไปเรื่อยๆแล้ว มั่นใจได้ จบแน่ๆ เท้าแตะพื้นก็เปลี่ยนไปใช้การเดินแทน แต่เดินได้ซักพักก็รู้สึกว่ามันไม่ได้เร็วกว่าว่ายเลย ก็สลับไปว่ายบ้างเดินบ้างจะได้ไม่ร้อนจากแดดส่องหลังเกินไปด้วยในช่วง 10 นาทีสุดท้าย จนมาถึงหาดขึ้นจากน้ำในที่สุด เห็นถังเก็บน้ำล้างตัวตั้งอยู่แวะไปตักราดล้างตัวสบายๆก่อนเดินขึ้นฝั่ง แล้ววิ่งเหยาะไปผ่านซุ้มเส้นชัยแบบยิ้มๆ

ถึงแล้ว ทางขึ้นฝั่ง

ซุ้มเส้นชัย นักกีฬาทุกประเภทเข้าเส้นชัยเดียวกัน สบายๆ

      ผ่านเส้นมาแวะรับเหรียญ รับอาหาร เรียบๆง่ายๆ เดินย้อนไปรับของฝาก(ใส่ถุงมาจากเกาะ) ใช้เวลาดูบรรยากาศการแข่งที่ยังมีแข่งไตรต่ออีกซักพักใหญ่ ก่อนแวะเปลี่ยนชุดแล้วเตรียมตัวกลับ

ของที่ระลึก สีสันบาดตา

      สรุปใช้เวลาไป  2:25 ชม. ในการว่ายน้ำในทะเลซึ่งไกลสุดที่เคยว่ายมา สนุกมาก ชอบบรรยากาศสบายเป็นกันเอง ระยะทางและเส้นทางอยู่ในระดับที่เป็นไปได้ถ้าซ้อมมา ความเหนื่อยน่าจะอยู่ประมาณฮาร์ฟมาราธอนเท่านั้น คนออกกำลังกายประจำแล้วซ้อมมาทำได้แน่ และที่สำคัญเหมือนที่หลายคนพูดไว้คล้ายๆกันว่า ต่อไปนี้เอาไปเล่าให้คนอื่นฟังได้แล้วว่า ครั้งหนึ่งในชีวิต ผมเคยว่ายน้ำข้ามเกาะเสม็ดมา  

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ครั้งที่สอง


Bangkok marathon 2015

42 km.   -   4:50 h.




"มาราธอนแรกอาจไม่ยากเท่าครั้งที่สอง" 

เคยอ่านผ่านตามา จนวิ่งผ่านเองแล้วก็เข้าใจได้ว่าไม่ใช่เรื่องของร่างกาย แต่เป็นจิตใจ
- เราผ่านจุดที่จะบอกตัวเองว่าชีวิตนี้ขอวิ่ง 42 km. ให้ได้ซักครั้งไปแล้ว เราจะมีแรงบัลดาลใจพอไหม
- เราเคยต้องตื่นมาซ้อมตี4 หลายๆวันตามโปรแกรมซึ่งเป็นจุดที่ยากที่สุดในการซ้อม ถ้าวิ่งอีกก็เจออีก
- เราเคยรู้แล้วว่าหลังกิโลที่35จะเจอกับอะไร




แต่ก็เหมือนเดิม พอผ่านเข้าเส้นชัยความรู้สึกและสิ่งดีๆที่ได้รับมันทำให้เราบอกตัวเองได้ว่าเหมือนเดิมว่า ฟูลมาราธอนเป็นหนึ่งในสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา
#บางกอกมาการอง #ซูเปอร์ฮาร์ฟในตำนาน

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Review Garmin Forerunner 920XT

          หลังผ่านฟูลมาราธอนแรกมาได้(แบบพอทน) เริ่มรู้สึกตัวเองจริงจังกับการออกกำลังกายมากกว่าเดิม พร้อมกับมองหาเป้าหมายใหม่ เลยมองหาอุปกรณ์ช่วยบันทึกการซ้อม เก็บสถิติ ทำให้อยากลองหาการ์มินมาใช้ซักตัว เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในไทย รวมถึงตั้งแต่ตอนเริ่มปั่นจักรยานใครๆก็แนะนำให้ใช้การ์มินตระกูล Edge พร้อมประโยคคลาสสิก "เจ็บ แต่จบ" อ่ะลองดูก็ได้ แต่รุ่นที่ตอบโจทย์คงต้องเป็นแบบคาดข้อมือเพราะตอนนี้วิ่งไม่น้อยกว่าออกไปปั่นแล้ว พอดีการ์มินออกนาฬิกาสำหรับไตรกีฬารุ่นใหม่ช่วงสิ้นปี 2014 น่าจะตรงกับความต้องการพอดี ได้โอกาสจัดมาแบบอ้างว่าให้ของขวัญวันเกิดตัวเองช่วงกลางเดือนมกราคม 2015

ยินดีต้อนรับ อยู่ด้วยกันไปนานๆนะ(เปลี่ยนบ่อยๆไม่ไหว)

          เลือกซื้อแบบมีเฉพาะตัวเรือนนาฬิกาสีดำ-ฟ้าไม่เอาบันเดิล เนื่องจากก่อนหน้าเคยใช้ HRM : Heart rate Monitor แบบคาดหน้าอกแล้วพบว่าไม่สะดวกตอนวิ่ง สีบ้างเลื่อนลงไม่อยู่กัยที่บ้าง อนาคตจะลองหาแบบคาดข้อมือมาใช้ (ลืมไปว่าจัดบันเดิลมาแล้วเอาสายวัดแยกขายน่าจะคุ้มกว่า) แกะกล่องมาก็ง่ายๆ มีอุปกรณ์แค่ตัวนาฬิกา สายชาร์ตแบบใช้ได้เฉพาะรุ่น ใบรับประกัน และคู่มือเบื้องต้นเล่มเล็ก คู่มือแบบละเอียดหาโหลดเอาจากเวปการ์มินหรือดูการตั้งค่าจาก youtube ก็สะดวกดี 

แกะออกมามีเท่านี้

          อธิบายความรู้สึกหลังลองใส่ครั้งแรกพบว่าตัวนาฬิกาน้ำหนักเบากว่าที่คิด ตัวหน้าจอไม่ได้ใหญ่มากจนเต็มเรือน แต่ดีไซน์เส้นสีฟ้ารอบขอบทำให้ดูสมดุลกับตัวเรือน จอไม่ได้ละเอียดมากยังเห็นเป็นพิกเซลชัดเจนแต่ไม่มีปัญหาตอนใช้งานเพราะไม่ได้ต้องการความละเอียดสูงแบบจอสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว เพิ่งเคยได้ใช้จอ E-ink ข้อดีคือคมชัดมากกลางแจ้งสู้แดดสุดๆ แต่จอไม่ได้มีแสงออกมาตลอดเวลา ถ้าต้องใช้งานตอนเช้ามืดหรือกลางคืนอาจต้องคอยกดไฟเพื่อดูข้อมูลขณะออกกำลังกาย

          สายนาฬิกาค่อนข้างกว้างน่าจะกว้างกว่านาฬิกาวิ่งโดยเฉพาะอย่าง 220/620 ยึดอยู่กับตัวเรือนแน่นหนา รัดข้อมือก็แน่นกระชับแบบนาฬิกาสายเรซิ่นหนาๆ(นึกถึง G-shock) แต่สายค่อนข้างนุ่มนะ ไม่เคยมีปัญหาเสียดสีใดๆจากการใช้งาน สายที่มากับเครื่องจะมีสีหลักเป็นสีดำโดยขอบรูใส่สลักจะเป็นสีฟ้า แต่ถ้ามองจากด้านหลังสายจะเป็นสีฟ้าพาดกลางเส้นมีแค่ขอบเป็นสีดำ แต่ละรูสลักห่างกันประมาณ 5 มม. สายมีแบบให้เลือกเพียบ รู้สึกจะใช้ร่วมกันกับ Fenix3 ได้ สายหนังสายเหล็กเลือกตามชอบ

การเริ่มใช้งาน
 
         การใช้งานครั้งแรกไม่ยากแม้จะไม่เคยใช้งานอุปกรณ์แบบนี้มาก่อนเลย เริ่มจากเสียบสายชาร์ตเพื่อซิงค์กับคอมซะก่อนทีแรก เผื่อมีการอัพเดท FW จะได้เป็นตัวล่าสุด ใช้ฟังชั่นครบๆสมราคาค่าตัว โดยแค่ติดตั้งโปรแกรม Garmin express แล้วคลิกตามขั้นตอน ครั้งแรกกดหา device ใหม่ ถ้ามีไฟล์อัพเดทจะขึ้นมาอัตโนมัติ กดอัพเดท รอซักครู่จนเรียบร้อยแล้วใช้งานได้เลย การใช้งานหลังจากนั้นแทบไม่จำเป็นต้องเอามาซิงค์อีกเลย เพราะถ่ายโอนข้อมูลการออกกำลังกายได้ด้วย Bluetooth หรือ wifi ได้อยู่แล้ว เว้นแต่อยากมาโหลด application หรือหน้าปัดนาฬิกาเพิ่ม (น่าจะสะดวกกว่าโหลด wifi)
     
หน้าตาเรียบง่าย มีให้กดอยู่ไม่กี่ที่

          ส่วนการเชื่อมต่อโทรศัพท์เพื่อใช้งาน Notification และส่งข้อมูล ทำเหมือนแชร์อุปกรณ์บลูทูชเพิ่ม การใช้งานดูข้อมูลทางโทรศัพท์ดูผ่าน App. garmin connect หน้าอินเทอร์เฟซดูทันสมัยแบบเรียบๆ สีดำเป็นหลัก ข้อมูลละเอียดดี แต่อยากดูแบบเต็มประสิทธิภาพ ดูผ่านเวปไซต์ garmin connect แจ่มสุด ละเอียดมากกกกก (บอกได้กระทั่งว่ารอบนี้ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำด้วยท่ากบ)

Garmin connect เรียบง่ายแบบ App. (ซ้าย) เยอะละเอียดแบบ Decktop (ขวา) 

การเก็บข้อมูลและสถิติการออกกำลังกาย

          สามารถเก็บข้อมูลได้หลากหลายและละเอียดมาก รวมถึงเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมเพิ่มเพื่อเก็บค่าเฉพาะด้าน (แน่นอนว่าเสียเงินค่าอุปกรณ์เสริมอีกเพียบถ้าต้องการข้อมูลสำคัญครบถ้วน...เจ็บแล้วก็ยังไม่จบสินะ -.-) ขอสรุปแยกแบบคร่าวๆตามประเภทกีฬาพื้นฐานที่มีให้ติดเครื่องมา (นอกจากนี้ตั้งค่าเพิ่มได้ เช่น ทวิกีฬา เทรคกิ้ง ฯลฯ)

ข้อมูลพื้นฐาน แสดงทุก workout ที่บันทึก

- ทุกประเภทกีฬา เนื่องจากเป็น GPS Watch ความสามารถพื้นฐานที่เก็บได้แน่ๆคือ 
     1. หมวดแทรคเส้นทางออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือจุดที่เราออกกำลังกายในร่ม (ถ้าจับ GPS ได้) ซึ่งความเร็วในการจับสัญญานเร็วมาก พอๆกับโทรศัพท์มืดถือรุ่นดีๆ ยิ่งถ้าเป็นจุดที่ออกกำลังกายประจำยิ่งจับได้เร็วเพราะเครื่องน่าจะเป็นไว้ในหน่วยความจำ นำมาพล๊อตเป็นแผนที่ให้ แสดงเส้นทางเริ่มถึงสิ้นสุด
     2. หมวดระยะทาง ระยะทางทั้งหมด ระยะทางแต่ละช่วง lap ซึ่งตั้ง Auto หรือกดเองที่ปุ่ม back บนหน้าปัด
     3. หมวดระยะเวลา ช่วงเวลาที่ใช้ออกกำลัง เวลาต่อระยะทาง
     4. หมวดความเร็วการเคลื่อนที่ จากการคำนวณตำแหน่ง วิ่งและว่ายน้ำบอกเป็น PACE จักรยานบอกเป็น KM./H. หรือหน่วยอื่นๆตามแล้วแต่ตั้งค่า ความเร็วเฉลี่ยต่อเวลา ความเร็วเฉลี่ยต่อรอบที่ตั้งไว้
     5. ความสูง เมื่อเคลื่อนที่ขึ้นลงมีการเปลี่ยนระดับ เช่น ขึ้น-ลงเนิน เป็นค่า Elev. Gain
     6. แคลอรี่ ใช้โปรแกรมคำนวณจากระยะทาง+เวลา+ค่าเฉพาะบุคคลเช่นน้ำหนัก,ส่วนสูง ที่ได้ตั้งค่าไว้ เพื่อให้ได้ค่าใกล้เคียงความเป็นจริงควรใส่ HRM ขณะออกกำลังกายด้วย
   โดยแสดงผลออกเป็นตัวเลข และพลอตกราฟออกมาในค่าข้อมูลที่ต่อเนื่อง เช่น ความเร็ว/ระยะทาง หรืออัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น 

ข้อมูลต่อเนื่องจะแสดงผลออกมาเป็นกราฟ

- โหมดการวิ่งกลางแจ้ง/วิ่งในร่ม ความสามารถหลักพื้นฐานตามชื่อรุ่น Forerunner ทำได้ทุกอย่างตามรุ่นบนอย่าง 620 แสดงรอบขา:Cadence r/m น่าจะคำนวณจากการแกว่งแขน ถ้าใส่ HRM รุ่นใหม่ของการ์มินจะแสดงค่า การเคลื่อนที่แนวตั้ง และช่วงเวลาที่เท้าสัมผัสพื้นเพิ่มเติมได้ มีฟีเจอร์ Metronome ให้จังหวะการก้าวเท้า ตั้งค่าให้ส่งเสียงและสั่นเตือนเมื่อกำหนด เช่น ครบระยะ การอยู่ในช่วงความเร็วที่ต้องการ

   ถ้าเป็นโหมดวิ่งในร่ม สามารถคำนวณระยะทาง น่าจะมาจากการเทียบการแกว่งแขนเวลาวิ่งกลางแจ้ง ทำให้ค่ามีความคลาดเคลื่อนอยู่ อยากให้แน่นอนขึ้นต้องหา Footpod มาติดตั้งที่รองเท้าเพิ่ม 

   เครื่องจะบันทึกสถิติที่ดีที่สุดของเราในการวิ่งระยะ 1, 5, 10 km. / miles ระยะ half, full marathon ค่า VO2 Max เก็บไว้ในเครื่อง และแจ้งเตือนเมื่อเราสามารถทำลายสถิติของตัวเองได้หลัง workout ครั้งนั้นๆ รวมถึงแจ้งเวลาพักฟื้น : recovery time ก่อนจะออกกำลังกายครั้งต่อไปโดยคำนวณจากความหนักในการออกกำลังก่อนหน้า (เคยแสดงตั้งแต่ 6-52 ชม. ไม่แน่ใจว่ามีมากกว่านี้ไหม)

- โหมดการปั่นจักรยานกลางแจ้ง/ปั่นจักรยานในร่ม ความสามารถน่าจะประมาณรุ่น Edge 20/25 ซึ่งเป็นตัวเริ่มต้น แสดงแค่ความเร็ว ระยะทาง เวลา ความชันของเส้นทาง(ถ้าถอดมาติดตั้งให้ได้ฉากที่แฮนด์รถ) ส่วนค่าอื่นๆแนะนำหาอุปกรณ์เสริมเพื่อแสดงค่าที่ควรรู้ในการปั่นจักรยาน ที่ควรมีคือเซนเซอร์รอบขา+ความเร็ว ส่วนอุปกรณ์เสริมที่รองรับมีอีกเพียบ จัดไปตามกำลัง อย่าง powermeter เกียร์ไฟฟ้า(รองรับการบอกเกียร์ที่เข้าอยู่) รวมถึง quick release kit ที่และเปลี่ยนให้มันกลายร่างจากนาฬิกา ไปเป็น Bike computer ได้ แลกกับการที่นาฬิกาจะมีรูปร่างแปลกไปซะหน่อย

    โดยฟังชั่นที่ไม่มีเหมือน Edge ตัวบนๆ คือ การโหลดเส้นทางลงเครื่อง ความสามารถนำทางแบบแผนที่ (แสดงการทำทางได้แต่แค่เป็นเส้นขึ้นมาพร้อมลูกศรชี้ทิศ แต่การใช้งานจริงทำได้ยาก ไม่มีทางแยกถนนหรือแผนที่ใดๆ แถมจอเล็กสุดๆ) วัดอุณหภูมิไม่ได้ วัดความดันอากาศไม่ได้ และออกมาปลายปี 2014 จึงยังไม่แสดง KOM และใช้กับเซนเซอร์ rearview radar ไม่ได้

   ใช้งานปั่นในร่มหรือขึ้นเทรนเนอร์ จะช่วยเก็ยระยะทางได้ถ้าใช้ app ออกกำลังอย่าง endomondo/strava ถ้าติดเซนเซอร์วัดความเร็วเพิ่มเข้าไป รองรับ ANT+ หลายๆตัว แต่ถ้าจะไม่ใช้ของการ์มินเอง ควรลองหรือสอบถามผู้เคยใช้งาน เพื่อจะได้ไม่เสียเงินฟรีซื้อมาแต่เชื่อมต่อไม่ได้ (แอบอินดี้บ้าง) 

   เครื่องจะบันทึกสถิติที่ดีที่สุดของเราในการปั่นในระยะทาง 40 km. การเปลี่ยนระดับที่มากที่สุด (ไต่เขาขึ้นลง) และทริประยะทางที่ไกลที่สุดที่เคยปั่นได้  

- โหมดการว่ายน้ำพื้นที่เปิด/การว่ายน้ำในสระ เทียบความสามารถกับตระกูล swim ไม่ได้เพราะไม่มีความรู้หรือเคยลองใช้ใดๆ แต่บอกข้อมูลได้พอตามต้องการ pace จำนวนสโตรกที่ใช้ swolf จากที่ลองว่าย openwater ซึ่งไม่บ่อย พบว่าบางช่วงสัญญาน GPS หลุดจับไม่ได้ ระยะมักจะขาดไปบ้าง สังเกตว่าเป็นช่วงที่ว่ายท่ากบนานๆ ซึ่งข้อมืออยู่ใต้น้ำตลอด น่าจะทำให้มีผลกับการรับสัญญาน และไม่สามารถแสดงอัตราการเต้นของหัวใจขณะว่ายน้ำ

   การว่ายในสระ เราต้องตั้งค่าความยาวสระก่อนเริ่ม โดยมีระยะมาตรฐานกำหนดมาให้ 25-33.3-50 m. 25 yards หรือกำหนดค่าความยาวสระเองตามจริงใช้ได้ดีกับสระตามหมู่บ้านหรือคอนโดที่ระยะมักไม่มาตรฐาน เครื่องจะนับรอบตามที่เราว่ายแล้วกลับตัวในสระ ถ้าว่ายในสระสั้นๆก็อาจมีหลุดๆไปบ้างบางรอบ(หรือเราจะกลับตัวไม่เหมือนชาวบ้านก็ไม่แน่ใจ) แต่หายไปไม่เกิน 3-5% นี่ก็พอรับได้เวลาอยากว่ายไปเรื่อยๆไม่ต้องนับรอบเอง และยังเก็บข้อมูลท่าที่ใช้ว่ายโดยคำนวณจากท่าทางการแกว่งแขนขณะว่าย แน่นอนว่าอยู่ในระดับพอใช้ได้ มีผิดบ้างโดยเฉพาะรอบที่ฟอร์มแกว่งๆ หรือเวลาดริลแบบที่ไม่ได้ว่ายเป็นท่ามาตรฐาน 

- โหมดไตรกีฬา ถือเป็นโหมดจำเพาะเจาะจงของรุ่นนี้ การทำงานคือนำโหมดว่าย/ปั่น/วิ่ง มาต่อกันโดยคั่นด้วยช่วง transition ระหว่างกีฬาแต่ละประเภทเข้าไป เรียงลำดับได้เป็น swim-T1-bike-T2-run รวม 5 ช่วงย่อย โดยแสดงผลเป็นการแข่งครั้งเดียว (1 multi-sport workout) แล้วค่อยเข้าไปดูช่วงย่อยๆได้ตามลำดับย่อย ซึ่งแสดงผังและข้อมูลแยกกัน

การใช้งานอื่นๆ

- Smart watch เนื่องจากมีหน้าจอแสดงผลดิจิตอลและเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้ จึงมีคุณสมบัติคล้าย smart watch อยู่กลายๆ ทั้งการเปลี่ยนหน้าปัดนาฬิกา การแสดง notification จากโทรศัพท์มือถือ การลง app เพิ่มเติม โดยหน้าปัดและ App สามารถหาโหลดเพิ่มผ่าน IQ connect ส่วนการแจ้ง noti. เตือนทุกอย่างที่โทรศัพท์แสดง ทั้งสายเรียกเข้าและข้อความ ทำได้ดีเมื่อเป็นภาษาอังกฤษแต่ยังไม่รองรับการแสดงข้อความภาษาไทย คืออ่านไม่ได้ การใช้งานจริงแค่ทำให้รู้ว่ามีข้อความจาก app นี้เตือนมาเท่านั้น รวมถึงตัวนาฬิกาไม่สามารถควบคุมฟังชันในโทรศัพท์ใดๆได้ เช่น การควบคุมเพลง กดรับ/ปฏิเสธสายเรียกเข้า รวมถึงแบบหน้าปัดและ app ก็มีให้เลือกไม่มากเหมือนพวก smart watch แท้ๆ สรุปรวมคือเหมือนเป็นฟังชั่นแถมเพิ่มมากับนาฬิกาออกกำลังกาย ให้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้นมากกว่าจะเป็นจุดขายหลักโดยตรง เหมือนที่ฟังชั่นออกกำลังกายใน smart watch นี่ก็ใช้งานจริงๆจังๆไม่ค่อยได้นั่นแหละ

- Activity tracker ติดตามการเคลื่อนที่แบบวัดก้าวเดิน ค่าที่นับได้ค่อนข้างใกล้เคียงกับตัวเลขที่ได้จาก app ของโทรศัพท์มือถือ เหมือนจะแข็งกว่าซัก 3-5% อ้างอิงได้ประมาณว่าวันนี้เดินเยอะหรือยังประมาณนั้น ทดสอบดูตอนใช้งานด้วยการพิมพ์งานคอมพิวเตอร์หรือขยับข้อมืดเล็กๆน้อยๆตัวเลขที่นับได้ก็ไม่เพิ่มขึ้นน่าจะถือว่าการตั้งค่าการนับอยู่ในเกณฑ์ดีไม่แสดงมากกว่าความเป็นจริงจากการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน โดยนาฬิกาสามารถคำนวณให้ว่าโดยเฉลี่ยเราเดินวันละกี่ก้าว มาตั้งเป็นค่าพื้นฐานเป้าหมาย(กำหนดเองก็ได้) เผื่อเป็นแรงจูงใจให้เดินเพิ่มขึ้นในถึงเป้าซักหน่อย แต่หากวันนั้นๆใส่ไปวิ่งแล้ว ตัวนาฬิกาจะนับจำนวนก้าวที่เกิดจากการวิ่งไปด้วย เพราะงั้นวันทีึ่วิ่งกับไม่วิ่งก้าวอาจจะต่างกันเยอะ ค่ากลางก็อาจเคลื่อนได้ ถ้าเป็นสายเก็บข้อมูลซีเรียสอาจไม่ค่อยพอใจ แต่ถือว่าวิ่งก็เป็นการก้าวแบบนึงนะ ขยับมากๆก็สุขภาพดีทั้งนั้น และระบบยังแสดงจำนวนแคลอรี่และระยะทางที่คำนวณได้จากการเดินในแต่ละวันด้วย

   นาฬิกามีระบบ move alert คือถ้าเราอยู่นิ่งเฉยๆเป็นเวลานาน(ประมาณ 1 ชม.ขึ้นไป) นาฬิกาจะสั่นพร้อมขึ้นข้อความ move! และส่งเสียงเตือนเบาๆว่านิ่งนานเกินไปแล้วนะ พร้อมกับขึ้นแถบสีแดงบนหน้าปัด 1 ขีดยาว ควรขยับตัวออกไปเดินบ้างจะได้ไม่ติดโต๊ะติดเตียงนานเกินไป ซึ่งขีดที่ว่าจะลดลงหากเราขยับไปเรื่อยๆถึงจุดนึง แต่ถ้าไม่ลุก นั่นต่อขีดก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้น ก็เหมาะสำหรับคนที่นั่งทำงานติดโต๊ะนานๆ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดตา จะได้พักบ้าง ส่วนเวลานาฬิกาเตือนแล้วจะสะดวกลุกไม่ลุกอันนี้ก็ตามความเหมาะสมนะครับ มันก็คงได้แต่เตือนเผื่อไว้นั้นแล

   ส่วนระบบติดตามการนอน ทำได้ทั้งตั้งค่าผ่าน app หรือจะให้ถูกต้องก็กดก่อนจะเข้านอนได้ให้เครื่องรู้ว่าต่อไปนี้จะนอนแล้วนะ เก็บเป็นข้อมูลสถิติไว้ในเครื่องดูได้ผ่าน app แต่ยอมรับว่าตั้งแต่ได้มาไม่เคยใช้เลยเพราะอาจไม่จำเป็นกับคนนอนเป็นเวลาและการจะใส่นาฬิกาเรือนขนาดนี้นอน คงจะรู้สึกแปลกๆอยู่บ้างสำหรับคนไม่เคย แต่โดยความเชื่อก็คิดว่าน่าจะทำได้ดีเพราะเซนเซอร์การเคลื่อนไหวทำมาค่อนข้างดีอยู่แล้ว

สรุปการใช้งาน

   ขอเป็นข้อๆตามที่นึกได้ ด้วยประสบการณ์ใช้จริงเกินครึ่งปีและลองใช้งานมาหลากหลายรูปแบบตามสมควร

+ ประสิทธิภาพการเป็นนาฬิกาออกกำลังกาย ทำได้ดีมาก ดีกว่าที่คิดไว้ ทั้งความรบถ้วน ความแม่นยำ ความง่ายในการใช้งานและตั้งค่า เหมือนตั้งค่ามือถือแบบยังเป็นปุ่ม(เกิดทันกันไหม) ช่วยให้รู้สึกมีแรงบันดาลใจในการไปออกกำลัง ได้แข่งกับตัวเองคนเมื่อวาน ได้ซ้อมตามโปรแกรมที่ตั้งใจไว้จะ tempo, interval, HR zone ก็มาเถอะ เป็นผลดีทั้งกับผู้เริ่มต้นไปจนถึงระดับแนวหน้า
+ ออกกำลังกายสะดวกขึ้น จากก่อนหน้าต้องพกมือถือติดตัวไปวิ่งไปปั่นตลอด หากระเป๋าหาที่อาร์มแบนด์มาใส่ก็ไม่ถนัดเท่าไหร่ ก็คาดนาฬิกาแล้วออกไปได้เลย กดปุ่ม 3 ทีออกวิ่งได้เลย แทนที่จะต้องเปิดapp รอโหลด คอยก้มมองข้อมูลจากมือถือ ไม่ต้องกลัวแบตหมดเวลาจะใช้มือถือหลังออกกำลังกาย  
+ อัพข้อมูลลงโซเชียลมีเดียสะดวกขึ้น ไม่นับอัพรูปลง IG, FB แต่สำหรับคนที่ใช้ app เก็บข้อมูลออกกำลังกายหลายตัวอย่าง Strava, Endomondo, Nike run เมื่อไปตั้งค่าอัพโหลดออโต้ไว้ เมื่อกดเซฟหลังออกกำลังเสร็จหลังจากข้อมูลขึ้นไปอยู่บน garmin connect จะถูกอัพต่อไปยัง app ที่ตั้งไว้ทันที จะแข่งปั่นกับเพื่อนบน strava แล้วเก็บระยะวิ่งกับกลุ่มใน Endo. ก็ไม้ต้องยุ่งยากอีกต่อไป
+ Garmin connect เป็น App ที่ดีออกแบบมาเพื่อคนชอบออกกำลังกายและเก็บข้อมูล แต่การใช้งานผ่านเวปไซต์จะดีมากที่สุด มีการปรับอินเตอร์เฟสอยู่เรื่อยๆๆให้ทันสมัย จดการแสดงผลได้แบบที่ปรับเปลี่ยนได้ตามชอบ แสดงข้อมูลเข้าใจง่าย เก็บข้อมูลบางอย่างที่บาง app ไม่มีหรือดูลำบากให้เข้าใจง่าย เช่น การตั้งเป้าหมายประจำปีว่าจะวิ่ง 800 กิโล ดูได้ว่าตอนนี้ทำไปได้กี่เปอร์เซนต์แล้ว หรือเก็บข้อมูลการใช้อุปกรณ์อย่างรองเท้าวิ่งว่าถึงระยะที่ต้องเปลี่ยนหรือยัง จักรยานปั่นครบระยะที่ต้องยกไปซ่อมบำรุงหรือยัง
+ การใช้เป็นนาฬิกาในชีวิตประจำวัน ดูจากรูปทรงแล้วออกจะใหญ่บึกบึนไปซักหน่อย รู้สึก Geek นิดๆเหมือนใส่ Smart watch รุ่นแรกๆที่ดีไซน์ยังไม่ลงตัวนัก กันน้ำกันกระเทือนแต่ไม่กันกระแทกกันรอย ยังมีรอยขีดข่วนบ้างหากใส่ประจำมีแน่ๆ แต่การได้ฟังชั่นบางอย่างของ smart watch มาเช่นการเตือนข้อความก็ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
+ แบตทนมาก ใส่ดูเวลามีข้อความเตือนบ้างอยู่ได้เกินเดือนแน่นอนลดแค่วันละ 2-3% แต่ในเมื่อซื้อมาออกกำลัง มันเลยจะหมดไปกับการเปิดใช้ GPS หากว่าย/ปั่น/วิ่ง กลางแจ้ง ลดไปประมาณชั่วโมงละ 10% ตั้งเตือนหรือกดดูหน้าจอให้ไฟติดเยอะก็อาจจะลงไปเร็วอีกนิดหน่อย แต่เวลาขนาด 9-10 ชม.นี่ว่ายข้ามทะเลครึ่งวัน ปั่นจักรยาน Audax 200 km. วิ่งฟูลมาราธอนได้เหลือเฟือ หากไปวิ่งอัลตร้า หรือไตรกีฬาระยะ ironman นี่อาจต้องสลับเป็นโหมด ultra trac ซึ่งจะจับ GPS ถี่น้อยลงแลกกับเวลาที่ใช้งานได้ตามเครมว่ามากกว่า40 ชม.
 
- ราคาแรงไปนิด แล้วยังต้องซื้ออุปกรณ์เชื่อมต่อและเซนเซอร์อีกพอสมควรเพื่อให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งที่ผลิดมาเพื่อไตรกีฬาโดยเฉพาะแต่ไม่มีบันเดิลตัวสมบูรณ์ที่รวมอุปกรณ์จักรยานมาด้วยเลย
- จอ E-ink มองกลางแจ้งชัดมาก แต่ถ้าออกกำลังกายช่วงไม่มีแสงนี้แทบต้องกดไฟส่งทุกครั้ง ไม่รู้มีโหมดเปิดไฟสว่างตลอดไหม
- การเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ด้วย Bluetooth เวลาออกไปพ้นระยะนานๆ เช่น ไปออกกำลังกายโดยไม่ได้พกโทรศัทพ์ไปด้วย หรือถอดนาฬิกาไว้นอกห้องที่วางโทรศัพท์ บางครั้งเมื่อกลับมาอยู่ในระยะจะไม่เชื่อมต่อให้เองแบบอัตโนมัติ อาจต้องกดเข้า workout ให้มีการส่งข้อมูล หรือบางครั้งก็ต้องจับคู่อุปกรณ์ใหม่ ปัจจุบันตัดปัญหาเวลารู้ว่าจะไม่อยู่ใกล้กันนานๆจะปิด BT ที่นาฬิกาไปเลย
  
- ยังไม่เรียบร้อย จะมา Edit ภายหลังครับ -

วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ล้ม-ร้าว-รักษา

N : อาทิตย์ก่อนครับ
T : ครับ?
N : ปั่นจักรยานล้มมา ล้มเองไม่ได้สะกิดกับใคร
T : โห ฟาดเคราะห์นะ เป็นไงบ้าง ล้มเอง ขำๆ
N : สะโพกร้าวเกือบหักครับ -..-

     การบาดเจ็บกับการเล่นกีฬาเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนของคู่กัน แต่อุบัติเหตุมักเป็นสิ่งที่เราไม่ได้นึกถึงทั้งๆที่ความเสี่ยงของกี่ฬาหลายชนิดสูงมาก ที่สำคัญเจ็บมากว่าที่คิดเยอะ
     การปั่นจักรยานล๊อคคลีทตอนฝนตก ผ่านแอ่งน้ำขังมองไม่เห็นด้านล่าง ขณะกำลังกดขึ้นสะพานข้ามแยกเกษตร มานึกย้อนดูนี่มันเสี่ยงสุดๆเลยนี่หว่า รู้สึกตัวอีกทีล้อหน้าปัด ตัวเอียงล้มสะโพกซ้ายกระแทกพื้นคอนกรีต ไถลตามแรงส่งไปอีก 5-6 ม. ชาซีกซ้ายแต่ลากตัวองกับรถเข้าขอบสะพานให้เร็วสุดก่อนรถยนต์ด้านหลังจะตามมาทับ รวมสติสำรวจตัวเอง ยังขาซ้ายไม่ได้เลยรับน้ำหนักขาเองยังไม่ไหว ช่วยตัวเองไม่ได้แน่นอน
     รวบรวมสติ โทรศัพท์เจ๊งไปเพราะล้มในแอ่งน้ำ ขอความช่วยเหลือยืมโทรศัพท์คนเดินผ่านไปมา (ตอนนั้นติดอยู่บนขอบสะพานพาตัวเองมานั่งริมถนนยังไม่ไหว) รอบุพการีมารับ ช่วงเวลาหลังเกิดเหตุจนถึง รพ.ประมาณ 1.30 ชม.
     x-ray ออกมาสะโพกร้าวเกือบรอบวง เหลือติดกันอยู่หน่อยเลยไม่หัก แอดมิดนอนถ่วงตุ้มน้ำหนักอยู่รพ. ลาป่วยยาวๆ นอนรพ.เกือบ 10 วัน กลับมานอนบ้านอาม่าซึ่งมีอุปกรณ์สำหรับคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ค่อนข้างพร้อม แล้วก็นอนต่อไปยาวๆใช้ชีวิตแนวราบอีกรวม 1 เดือนเต็ม เข้าใจเวลาญาติผู้ใหญ่ป่วยเลยมันค่อนข้างดราม่าทีเดียวกับการใช้ชีวิตแบบนั้น ก่อนจะพอลุกขึ้นมาค่อยๆใช้ไม้เท้าและรถเข็น ปรับตัวทำกายภาพบำบัด อีก 2 สัปดาห์ ถึงกระย่องกระแย่งไปไหนมาไหนได้ 


     ช่วงเวลาไหนยากที่สุด มันก็มีตอนที่เจ็บจนต้องให้มอร์ฟีนอ่อนๆ ตอนที่เห็นคนที่เราควรต้องดูแลเขามาเป็นฝ่ายดูแลเรา ตอนที่ช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้แม้แต่การขับถ่าย แต่สุดๆคือตอนกายภาพบำบัดใหม่ๆ เหมือนต้องทำให้ตัวเองเจ็บปวดทุกๆชั่วโมงที่ยังตื่น เจ็บระดับที่ใกล้ๆกับกระดูกหัก เพียงเพื่อจะค่อยๆงอขาเพิ่มได้วันละ 10องศา กำลังใจตอนงอขาหลังถอดเผือกไม่ได้เลยนี่ต่ำมาก แต่มันก็แค่แป๊บเดียว พอบอกตัวเองว่าทนซะแล้วเราจะกลับมาดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องเป็นภาระใครอีก เดี๋ยวความอดทนก็มากเอง
     สรุปค่อยๆฟื้นตัวเองกลับมาได้ หาทางให้ฟื้นเร็วสุด เจ็บหน่อยก็ยอม ขนาดยังต้องใช้ไม้ค่ำช่วยเดินแต่ลงสระว่ายน้ำไปแล้ว เพราะเป็นที่เดียวที่จะยืนสองขาได้ กลายเป็นว่าว่ายน้ำเป็นทางเลือกในการกายภาพบำบัดที่ดีสำหรับกรณีนี้ อย่างน้อยก็ได้รู้สึกว่าออกกำลังกายบ้างหลังผ่านไป 2 เดือน 
     
     เพราะงั้นเป้าหมายปีนี้มีชัดเจนอย่างเดียว - พาตัวเองกลับไปแข็งแรงให้เหือนก่อนล้มให้ได้